
เฟซบุ๊กเผยกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อโต้แย้งทางกฎหมาย
ภายหลังรัฐบาลไทยมีคำขอให้จำกัดการเข้าถึงเนื้อหาบนเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการพูดคุยเรื่องราชวงศ์และสถาบันกษัตริย์
"หลังจากที่เฟซบุ๊กได้พิจารณาอย่างระมัดระวังและถี่ถ้วนแล้ว
เราตัดสินใจที่จะจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่ทางรัฐบาลไทยระบุว่าเป็นเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย"
ตัวแทนจากเฟซบุ๊ก ระบุในแถลงการณ์ที่ส่งถึงบีบีซีไทยในช่วงบ่ายวันนี้ (25
ส.ค.)
แถลงการณ์จากเฟซบุ๊กระบุอีกว่า
"ข้อเรียกร้องจากรัฐบาลเช่นครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่รุนแรง
และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล และยังส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก
การดำเนินงานของเฟซบุ๊กมีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องและรักษาไว้ซึ่งสิทธิต่าง ๆ
ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทุกคน
และขณะนี้เรากำลังเตรียมความพร้อมเพื่อโต้แย้งในข้อกฎหมายต่อข้อเรียกร้องครั้งนี้"
เมื่อคืนวันจันทร์
(24 ส.ค.) กลุ่มปิดบนเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า "รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส"
ซึ่งมีสมาชิกกว่า 1 ล้านคน ถูกปิดกั้นการเข้าถึงในประเทศไทย
โดยที่หน้ากรุ๊ปเพจปรากฏข้อความว่า
"กลุ่มนี้ถูกจำกัดการเข้าถึงในประเทศไทยสืบเนื่องจากคำร้องขอทางกฎหมายจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม"
ตัวแทนจากเฟซบุ๊ก
กล่าวอีกว่า
การแทรกแซงที่เกินขอบเขตของรัฐบาลเช่นในกรณีนี้ยังถือเป็นการบั่นทอนความสามารถของเฟซบุ๊กในการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
ตลอดถึงการดำเนินงานของสำนักงานในประเทศไทย
การคุ้มครองดูแลพนักงานของบริษัทฯ
และการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนโดยตรงต่อธุรกิจต่าง ๆ
ที่ต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก
หลังจากไม่สามารถเข้าถึงได้ในประเทศไทย
ดร.ปวิน ชัชวาลย์พงศ์พันธ์
นักวิชาการและผู้ลี้ภัยทางการเมืองในญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและผู้จัดการ
(แอดมิน) กลุ่มดังกล่าว ได้สร้างกลุ่มขึ้นมาใหม่โดยใช้ชื่อว่า
"รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง" ซึ่งจนถึง 14.00 น. วันนี้ (25 ส.ค.)
มีสมาชิกเข้าร่วมแล้วกว่า 510,000 บัญชีผู้ใช้งาน

ที่มาของภาพ, PARIS JITPENTOM/BBC THAI
ดร.ปวิน
ซึ่งขณะนี้อาศัยอยู่ในต่างประเทศ
กล่าวกับบีบีซีว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นแพลตฟอร์ม
ให้คนไทยได้สนทนาอภิปรายกันอย่างเสรีในเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์
"สมาชิกบางคนของกลุ่มคิดว่ารูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอาจยังเป็นรูปแบบการปกครองที่ใช้ได้อยู่
แต่นั่นก็เป็นส่วนน้อย ขณะที่บางคนคิดว่าจำเป็นต้องมีการปฏิรูปสถาบันฯ
อย่างเร่งด่วน"
ดร.ปวิน
ยังกล่าวถึงความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ
ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยว่า
"ผู้ที่ออกมาเรียกร้องได้ดันเพดานการพูดคุยเรื่องเกี่ยวกับสถาบันฯ
ให้ขึ้นไปสูงมาก
และจะยังคงเป็นเช่นนั้นอย่างต่อเนื่อง…ขณะที่รัฐบาลพยายามใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปิดปากคนเหล่านั้น
ด้วยการจับกุมแกนนำคนสำคัญ
และปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลอย่างในกลุ่มของผมเป็นต้น
และหากนักศึกษายังเคลื่อนไหวต่อ ก็อาจมีการใช้มาตรการที่รุนแรงขึ้น
อย่างการปราบปราม"
พล.อ.ประยุทธ์
จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม
ให้ความเห็นถึงการเตรียมดำเนินการทางกฎหมายของเฟซบุ๊กว่า หากมีการฟ้องร้อง
ก็จะต้องต่อสู้กันทางกฎหมาย
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าการร้องขอให้มีการปิดกั้นการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์เป็นการดำเนินการตามกฎหมายของประเทศไทย
กฎหมายประเทศไทยว่าอย่างไร ทุกคนก็ต้องเคารพกฎหมายของแต่ละประเทศเช่นกัน
"เป็นเรื่องการดำเนินการตามกฏหมายไทยทั้งสิ้น
แล้วก็ไม่เคยไปใช้อำนาจที่เรียกว่าเผด็จการ ซึ่งผมไม่ได้มีแล้ว
ไปปิดมันไม่ใช่ เป็นการขอคำสั่งศาลในทุกตัว" นายกฯ กล่าว
"การปิดเพจอะไรไปก็แล้วแต่
ก็เป็นการขอความร่วมมือและเป็นไปตามคำสั่งศาลทั้งสิ้น
หากมีการฟ้องร้องดังกล่าวเราก็ต้องใช้กฎหมายไทยไปสู้ในทางกฎหมายของเรา
และถึงแม้ในทางกฎหมายจะมีสิทธิเสรีภาพแต่ก็ต้องเป็นไปตามกฏหมายของไทย
เหมือนกับที่เราไม่เคยไปผิดกฏหมายของประเทศอื่นเช่นกัน เรื่องนี้เราต้องมอง
2 ทางเสมอ"
บีบีซีไทยพยายามติดต่อนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ
อย่างไรก็ตาม
นายพุทธิพงษ์ โพสต์ทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ว่ากระทรวงดิจิทัลฯ
ได้ส่งหลักฐานเกี่ยวกับเว็บไซต์และบัญชีใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ไปยังศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งให้ปิดกั้นการเข้าถึงเพจหรือลิงก์ต่าง
ๆ แล้ว 1,389 รายการ ซึ่งศาลได้มีคำสั่งแล้วทั้งหมด
ทั้งนี้
ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจะต้องดำเนินการภายในวันนี้ (25 ส.ค.)
ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาที่กลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส
ถูกปิดกั้นการเข้าถึงในคืนวันที่ 24 ส.ค.

ที่มาของภาพ, @BEEPUNNAKANTA
บัญชีสื่อสังคมออนไลน์ที่ศาลมีคำสั่งให้ปิดกั้นการเข้าถึงนี้
เป็นบัญชีที่มีผู้แจ้งเบาะแสไปยังเพจ "อาสาจับตาออนไลน์"
ของกระทรวงดิจิทัลฯ ระหว่างวันที่ 31 ก.ค.-21 ส.ค. ซึ่งมีทั้งสิ้น 5,282
รายการ (ยูอาร์แอล) ตรวจสอบแล้วเข้าข้อกฎหมาย 2,095 รายการ
โดยมีทั้งเฟซบุ๊ก ยูทิวบ์ ทวิตเตอร์ เว็บไซต์ และติ๊กต็อก (TikTok)
รมว.ดิจิทัลระบุอีกว่า หลังจากจบขั้นตอนของกระทรวงจะเป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจใช้คำสั่งศาลติดตามดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด
ส่วนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์เมื่อได้รับคำสั่งศาลแล้วต้องรีบลบหรือปิด
หากไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน อาจเข้าข่ายความผิดมาตรา 27 พ.ร.บ.
ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โทษปรับ 200,000 บาท
หรือโดนปรับวันละ 5,000 บาทต่อรายการจนกว่าจะลบ
มีโทษทั้งคดีทางอาญาและเปรียบเทียบปรับ
ด้านตัวแทนกูเกิลประเทศไทย
ระบุกับบีบีซีไทยว่า สำนักงานกูเกิลประจำประเทศไทย
ไม่มีอำนาจในการระงับเนื้อหาใดเนื้อหาหนึ่ง
หากมีการร้องขอจากรัฐบาลในการปิดกั้นเนื้อหาบนยูทิวบ์
ซึ่งกูเกิลเป็นเจ้าของและผู้ดูแลกิจการดังกล่าว
ทางสำนักงานมีหน้าที่เพียงรับคำร้องจากรัฐบาลเพื่อให้สำนักงานใหญ่ที่สหรัฐฯ
พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
บก.ปอท. บอกเป็นเรื่องของกระทรวงดิจิทัลฯ
บีบีซีไทย
สอบถามไปยัง พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ
รองผู้บังคับการตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
(ปอท.) และ โฆษก บก.ปอท.
ระบุว่าเรื่องการปิดกั้นการเข้าถึงบัญชีสื่อสังคมออนไลน์เป็นเรื่องของกระทรวงดิจิทัลฯ
เพราะอำนาจตามคำสั่งศาลนั้นผ่านความเห็นของคณะกรรมการของกระทรวง
เมื่อถามว่า บก.อปท.ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง หลังจากที่กระทรวงดิจิทัลฯ
ไปแจ้งความเมื่อวันที่ 19 ส.ค.
ให้ดำเนินคดีกับแอดมินและผู้เกี่ยวข้องกับกลุ่มเฟซบุ๊ก
"รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส" พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ระบุว่าไม่ทราบความคืบหน้า