

“วิชา” เรียก “สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” อดีต ผบ.ตร. แจงคดีบอสวันที่ 20 ส.ค. ระบุพยานสำคัญพาดพิงถึง พร้อมประสาน ก.ยุติธรรมคุ้มครอง “พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น” พยานปากเอกเรื่องความเร็วรถ เหตุถูกคนติดตามจนกังวลเรื่องความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังสั่งตรวจสอบเส้นทางการเงินบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย ด้าน “ผู้ช่วยเพิ่มพูน ชิดชอบ” ชี้แจงระบบคำสั่งเป็นเด็ดขาดไม่รับคืน ที่ไม่เห็นแย้งเพราะไม่มีข้อมูลใดผิดปกติ “บิ๊กโต้ง-จารุวัฒน์” แจงสื่อขอขยายเวลาสอบ ในบางประเด็นที่ยังเป็นที่สงสัยอีก 7 วัน เพราะมีเรื่อง ต้องตรวจสอบเยอะ ส่วนที่ประชุม ก.อ.โหวตไม่เห็นชอบ ตั้งอนุกรรมการสอบ “เนตร” เผยเจ้าตัวเข้าร่วมประชุมด้วยแสดงว่า อสส.ยังไม่อนุมัติให้ลาออก
กรณีนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้นายวิชา มหาคุณ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนในคดีที่อัยการยกฟ้องนายวรยุทธหรือบอส อยู่วิทยา ขับรถสปอร์ตเฟอร์รารี่ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิตบนถนนสุขุมวิท เมื่อเช้ามืดวันที่ 3 ก.ย.55 สร้างความเคลือบแคลงใจเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมให้กับประชาชนทั่วประเทศ ล่าสุดผลการตรวจสอบ นายวิชาระบุ คดีนี้มีการทำสำนวนเท็จในเรื่องของความเร็วรถ และการลงวันที่สอบปากคำไม่ตรงกับความเป็นจริง ขณะที่พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ รับสำเนาสำนวนคดีนี้จากคณะตรวจสอบของอัยการสูงสุด เพื่อรวบรวมหลักฐานแจ้งข้อหาเสพโคเคนกับนายวรยุทธ ตามที่เสนอข่าวไปแล้ว
ความคืบหน้าคดีลูกชายทายาทเครื่องดื่มชูกำลังขับรถชนตำรวจที่ยืดเยื้อมานานถึง 8 ปีนี้ เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 18 ส.ค. ที่สำนักงานกฤษฎีกา ถนนพระอาทิตย์ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน ได้เชิญ พ.ต.อ. ธนสิทธิ์ แตงจั่น นวท. (สบ 4) เข้าชี้แจงเรื่องการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถจาก 177 เป็น 79 กม. ต่อชั่วโมง ในช่วงเช้า และ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร.เข้าชี้แจงเรื่องการมอบอำนาจเด็ดขาดจาก ผบ.ตร. และการไม่เห็นแย้งอัยการ ในช่วงบ่าย
ต่อมาเวลา 16.00 น. นายวิชาเปิดเผยหลังการสอบข้อเท็จจริงว่า พ.ต.อ.ธนสิทธิ์เป็นพยานที่มีน้ำหนักทำให้อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องในเรื่องการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถจาก 177 เป็น 79 กม.ต่อชั่วโมง เจ้าตัวยืนยันว่าให้ข้อมูลพนักงานสอบสวนเพียงครั้งเดียวคือในวันที่ 26 ก.พ.59 ยืนยันว่าไม่ได้เข้าให้ข้อมูลในวันที่ 2 มี.ค.59 ตามที่ถูกกล่าวอ้าง และไม่ทราบว่านายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม เข้ามาได้อย่างไร ทราบเพียงเป็นผู้ทำข้อมูลในคดีเสี่ยชูวงษ์ ทำให้เชื่อถือในข้อมูล แต่เมื่อมาทบทวนและเชื่อว่าไม่ถูกต้อง พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงข้อมูลกลับไปอยู่ที่ 177 กม.ต่อชั่วโมง แต่ พ.ต.อ.วิรดล ทับทิมดี 1 ในพนักงานสอบสวนคดีนายวรยุทธในขณะนั้น อ้างว่าทำคดีอื่นซับซ้อน ทำให้เกิดความสับสน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างการให้ปากคำ ทั้งนี้ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ยอมรับว่ากังวลเรื่องความปลอดภัย อ้างว่ามีบุคคลติดตาม และกำลังถูกกดดันอย่างหนัก แต่ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ไม่ได้ตอบตรงๆว่าเป็นใคร บอกเพียงว่าเป็นบุคคลที่พานายสายประสิทธิ์เข้ามาเป็นพยานในห้องทำงาน พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก อดีต ผบช.สพฐ.ในขณะนั้น เบื้องต้น คณะกรรมการฯได้ประสานปลัดกระทรวงยุติธรรมให้เข้ามาช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยแล้ว

ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นมาสะสางคดีนี้กล่าวอีกว่า ส่วนการเข้าให้ข้อเท็จจริงของ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. เจ้าตัวได้ชี้แจงเรื่องการมอบอำนาจว่าเป็นไปตามระบบคำสั่งเป็นเด็ดขาดไม่รับคืน ที่ไม่เห็นแย้งอัยการเพราะไม่มีข้อมูลใดผิดปกติ แต่ยอมรับว่าเพิ่งทราบว่ามีการกดดัน พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ เมื่อวานนี้จากสื่อ ถ้ารู้ก่อนหน้านี้ว่ามีการกดดัน และทำสำนวนอันเป็นเท็จตนไม่ยอมหรอก เป็นเรื่องที่คณะกรรมการจะต้องนำไปพิจารณากระบวนการทำงานของตำรวจต่อไป รวมทั้งได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมไปตรวจสอบเส้นทางการเงินของบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งนี้คณะกรรมการฯจะตรวจสอบว่าในการทำสำนวน จะต้องมีใครเกี่ยวข้องและรับผิดชอบ ส่วนข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบทั้งหมดขณะนี้ ยังเปิดเผยไม่ได้ว่ามีบุคคลใดบ้าง
เมื่อถามว่า ถึงขณะนี้เห็นได้ชัดแล้วหรือไม่ว่า เป็นกระบวนการเอื้อในทางคดีให้กับนายวรยุทธ นายวิชากล่าวว่า อย่างที่สื่อมวลชนบอก เรารู้กันดีอยู่ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องธรรมดา ไม่ใช่แค่คดีรถชนกันตาย แต่จริงๆแล้วไม่ปกติ สมแล้วที่นายกรัฐมนตรีจะต้องตั้งคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบ โดยวันที่ 20 ส.ค. ได้เชิญนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อสส. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. ผบก.กองต่างประเทศ สตช. อดีต ผบก.กองต่างประเทศ สตช.ที่รับผิดชอบการออกหมายแดง หรืออินเตอร์โพล และ ผกก.สภ.เมืองเชียงใหม่ มาให้ข้อมูลการเสียชีวิตของนายจารุชาติ มาดทอง รวมถึงการชันสูตรพลิกศพ ต่อข้อมูลต่อคณะกรรมการ โดยมาให้ข้อมูลชี้แจงเวลา 13.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วน พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก ที่ถูกกล่าวอ้างในรายงานชี้แจงคงไม่ต้อง เพราะวันนี้ ชี้แจงว่าใช้เพียงห้องทำงานของ พล.ต.อ.มนู
ส่วนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ในฐานะรองประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขั้นตอนการดำเนินคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการนำผลสรุปการตรวจสอบเสนอ ผบ.ตร.พร้อมขอขยายเวลาการตรวจสอบในบางประเด็นที่ยังเป็นที่สงสัยอีก 7 วัน โดยเหตุจำเป็นที่ต้องขอขยายเวลาเพิ่มเติม เนื่องจากมีเรื่องต้องตรวจสอบเยอะ บางเรื่องยังเป็นข้อสงสัยของคณะกรรมการ โดยเฉพาะเรื่องวินัยว่าใครบกพร่องอะไรบ้าง เพราะบางคนทำผิดหลายอย่าง บางคนทำผิดอย่างเดียว มีความซ้ำซ้อน บางคนโดน ป.ป.ช. ชี้มูลไปแล้ว แต่ยังพบว่ากระทำบกพร่องซ้ำอีกในบางประเด็น ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบ ส่วนใครจะได้รับโทษอย่างไร ผบ.ตร.จะตั้งคณะกรรมการสอบวินัยอีกครั้ง
อีกด้านหนึ่งที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ครั้งที่ 82/2563 ผู้เข้าร่วมประชุม 15 คนโดยมีวาระการประชุมที่น่าสนใจ เรื่องการตั้งกรรมการสอบดุล– พินิจนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด กรณีสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ใช้เวลานาน 5 ชั่วโมงเศษ โดยนายเนตร เป็น ก.อ.โดยตำแหน่งได้เข้าร่วมประชุมด้วย แต่ในวาระเกี่ยวกับนายเนตร ต้องเดินออกจากห้องประชุมชั่วคราว
หลังประชุมเวลา 15.00 น. นายอรรถพลเผยว่า วันนี้มีการเสนอชื่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบการสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ หรือบอส เพื่อตรวจสอบดุลพินิจของนายเนตร ผลการโหวตเสียงส่วนใหญ่ที่ประชุม “ไม่เห็นชอบ” ตั้งคณะอนุกรรมการดังกล่าวไม่ได้ เหตุผลในที่ประชุม ก.อ.บางส่วนบอกให้ชะลอการตั้งอนุกรรมการดังกล่าวไว้ก่อน บางคนไม่มีการอภิปราย แต่โหวตไม่เห็นชอบ มีมติที่เห็นชอบ 5 เสียง ส่วนที่เหลือไม่ออกเสียงและไม่เห็นชอบ โดยขั้นตอนในการโหวต นายเนตรต้องออกจากที่ประชุม ส่วนเรื่องที่นายเนตรยื่นลาออกจากการเป็นรองอัยการสูงสุด ยังไม่มีรายงานเข้าที่ประชุม การที่นายเนตรมาประชุมในวันนี้ แสดงว่ายังไม่ได้อนุญาตให้ลาออก
นายอรรถพลกล่าวอีกว่า ในโอกาสนี้ ได้เสนอหลักเกณฑ์การสอบสวนชั้นต้นและการสอบสวนวินัยข้าราชการอัยการสูงสุดขึ้นใหม่ โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ผ่านการเห็นชอบแล้ว ขั้นตอนต้องไปประกาศราชกิจจานุเบกษา หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะคล้ายกับปี 54 ในการสอบวินัยข้าราชการอัยการตามมาตรา 74 การสอบระดับ “รอง อสส.” และ “อสส.” จะเป็นไปตามมาตรา 82 แต่ในวันนี้ที่เสนอเป็นเฉพาะรอง อสส.เท่านั้น. ส่วนประเด็นเกี่ยวกับตำแหน่ง อสส.จะเป็นการประชุมคราวหน้า เมื่อถามว่าการประกาศราชกิจจาฯจะช้า จนไม่สามารถดำเนินการทางวินัยกับนายเนตรหรือไม่ นายอรรถพลกล่าวว่า น่าจะประกาศเร็ว ถ้าประกาศเร็วก็ต้องตั้งสอบสวนชั้นต้น ถ้าตั้งแล้วพบว่าผิดวินัยจะสอบต่อไปว่า ผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ หากสอบเห็นว่านายเนตรไม่ผิดเลยก็สอบไม่ได้ ส่วนเรื่องที่อนุญาตให้ลาออกก่อนมีราชกิจจาฯจะสอบวินัยไม่ได้นั้น ต้องคิดในแง่หลักธรรมชาติว่า จะต้องรอให้หลักเกณฑ์ประกาศราชกิจจาฯก่อน เพราะขณะนี้ อสส.เองตั้งคณะทำงานตรวจสอบ (คณะที่มีนายสมศักดิ์ บุญทอง อดีตรอง อสส.เป็นระธาน) อยู่คณะหนึ่งแล้ว
เมื่อถามอีกว่า มติไม่ตั้งคณะกรรมการในวันนี้จะมีการผลักดันเสนอตั้งอีกครั้งหรือไม่ นายอรรถพล เผยว่า มติในวันนี้ถือว่าจบแล้ว เมื่อเสียงส่วนใหญ่เป็นเช่นนั้นต้องเคารพ แต่หลักเกณฑ์กำหนดให้มีการตั้งกรรมการสอบสวนชั้นต้น หรือสอบสวนวินัย โดยปกติกรรมการที่มาตรวจสอบจะต้องเป็นข้าราชการอัยการ แต่ในวันนี้เป็นเพียงคณะกรรมการที่เราเสนอจากอดีตรองอัยการสูงสุด แต่หากระเบียบที่กำลังเตรียมจะประกาศราชกิจจาฯออกมาแล้ว จะให้มีการตั้งสอบชั้นต้น เว้นแต่คณะกรรมการที่ อสส.ตั้งในปัจจุบันจะมีความเห็นว่าการกระทำของนายเนตร ไม่มีความผิดเลย ถึงตอนนั้นต้องไปดูอีกว่าจะตรวจสอบได้อย่างไร
มีรายงานว่า อัยการที่มีความเห็นให้ตั้งอนุกรรมการตรวจสอบดุลพินิจนายเนตร 5 เสียง ประกอบด้วย นายอรรถพล ประธาน ก.อ. นายชาติพงษ์ จิระพันธุ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจฯ นายไพรัตน วรปาณิ (ก.อ.บุคคลภายนอก) นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักคดีอาญาธนบุรี และนายชาตรี สุวรรณิน ผู้ตรวจการอัยการ

นายสิระ เจนจาคะ ประธานคณะกรรมาธิการ กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การประชุม กมธ. วันที่ 19 ส.ค. จะมีการพิจารณาคดีการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ โดยจะเชิญ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รอง ผบ.ตร. ในฐานะอดีตผบช.พิสูจน์หลักฐาน เข้าชี้แจง รวมถึงเชิญนายธานี อ่อนละเอียด ส.ว. อดีต กมธ.กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พล.อ.ท.จักรกฤช ถนอมกุลบุตร พยานคดีนายวรยุทธ มาชี้แจงต่อ กมธ.ด้วย โดยเฉพาะในรายนายธานี และ พล.อ.ท.จักรกฤช หากยังไม่ยอมมาชี้แจงต่อ กมธ. จะใช้อำนาจ พ.ร.บ.คำสั่งเรียก เพื่อให้มาชี้แจงต่อ กมธ.ต่อไป ข้อมูลที่ กมธ.ได้ทั้งหมดจะส่งต่อให้กับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดของตำรวจ อัยการ และชุดนายวิชา มหาคุณ นำไปดำเนินการต่อไป